วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

[JClass] "หนังสือใหม่" ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 @ บูธ BB-10 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

สำนักพิมพ์ JClass อยู่ที่บูธ BB-10 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25
ณ ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 30 ก.ย. - 11 ต.ค. 2563 เวลา 10.00 - 21.00 น.

=======================================================

1. หน้ากากทอง 黄金仮面 Oogon-kamen by Ranpo Edogawa ราคาปก 265 บาท

บทประพันธ์ของ "เอโดงาวะ รัมโปะ" เต็มไปด้วยการผจญภัย, ห้ำหั่น, โจรกรรม, ชิงไหวชิงพริบ
แสดงฝีมือโดยนักสืบเจ้าประจำ "อากาจิ โคโงโร" ร่วมโลดแล่นไปก้บเพื่อนตำรวจ "สารวัตรนามิโกชิ"

บทประพันธ์ของ "เอโดงาวะ รัมโปะ" นี่คือบทประพันธ์ของอาจารย์รัมโปะที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง
แปลโดยอาจารย์รัตน์จิต ทองเปรม ผู้มีผลงานวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นมากมาย
และผลงานอาร์ตเวิร์กสะดุดตาด้วยลายเส้นดินสอสเกตช์แลดูคลาสสิกบนหน้าปกโดยคุณ chop illustration ศิลปินอายุน้อยผู้ความสามารถมาก

ในฉบับแปลปี 2020 นี้ ท่านนักอ่านจะได้พบกับ "บทความที่อาจารย์รัมโปะเป็นผู้เขียนเอง" ซึ่งหาอ่านได้ยากยิ่ง
และจะทำให้ได้ทราบแนวคิดและมองมุมมองของผู้แต่งต่อบทประพันธ์ของตัวเอง, บรรยากาศ ณ ตอนที่ผลงานออกในภาษาญี่ปุ่น
ความรู้สึกของผู้แต่งเมื่อผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ (ภาษาเอสเปรันโต) และวิธีการทำงานของอาจารย์
ซึงอาจารย์เขียนอย่างตรงไปตรงมา...ไม่มีกั๊ก ทำให้เราได้รู้ว่านักเขียนระดับปรมาจารย์ท่านนี้ทำงานอย่างไร



2. ฆาตกรรมนางาซากิ 長崎殺人事件 Nagasaki Satsujin Jiken by Yasuo Uchida ราคาปก 275 บาท

แปลโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

ญี่ปุ่นมีนวนิยายสืบสวนที่เรียกว่า “Travel Mystery” จุดเด่นคือ ที่เกิดเหตุมักจะเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ
บ้างก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บ้างก็เป็นสถานที่ในประวัติศาสตร์ เสน่ห์ของเรื่องแนวนี้เกิดขึ้นจาก
“ความลึกลับของคดี + สถานที่” ที่เราอาจจะเคยรู้...แต่ยังไม่ซึ้ง เคยได้ยินถึง...แต่ยังไม่ลึก

มือหนึ่งแห่งนิยายแนวนี้คือ “อาจารย์อูจิดะ ยาซูโอะ”, ท่านเสียไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยฝากผลงานชุดใหญ่...ชุดสำคัญ...
ชุดที่มีการนำไปทำละครโทรทัศน์มากมายในช่วงหลายสิบปีมานี้ นั่นก็คือ Asami Mitsuhiko ซึ่งเป็นนักข่าวอิสระ
และเป็นนักสืบไปในตัวด้วย โดยมีพี่ชายเป็นคนใหญ่คนโตอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นักสืบของเราต้องบินไปถึงนางาซากิทั้ง ๆ ที่กลัวเครื่องบิน เพื่อไปคลี่คลายคดีที่ซับซ้อนมาก ฉากต่าง ๆ
เช่น ภูเขาขึ้นชื่อระดับโลก หรืออาหารท้องถิ่น เช่น ขนมคัสเทลลา ชัมปง อันโด่งดังทั่วญี่ปุ่น
เป็นองค์ประกอบที่มีเสน่ห์ที่หล่อเลี้ยงเรื่องเล่า...ให้กลายเป็นเรื่องราว...สอดผสานกันอย่างกลมกลืนระหว่างคดีซ้อนคดี...ซ้อน ๆ ๆ คดี

เจ้าของร้านคัสเทลลาเข้าไปพัวพันกับคดีฆ่าคนตาย เดิมอาซามิไม่ได้ตั้งจะไปช่วยคลี่คลายหรอก
แต่ปรากฏว่า...คำร้องขอของหญิงสาวนางหนึ่งทำให้เขาใจอ่อน เรื่องชักจะวุ่นวายไปใหญ่เมื่อปรากฏว่ามี
“คำสาปมาดามบัตเตอร์ฟลาย” ผุดขึ้นมา...ยังผลให้มีคนตายอีก มันใช่คำสาปจริงหรือไม่?
แต่มันก็น่าสงสัยเพราะสถานที่เกิดเหตุนั้นอยู่ที่คฤหาสน์โกลเวอร์อันถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเมืองและเป็นจุดเชื่อมโยงกับ “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” (หากใครยังมิทราบ ขอแบ่งปันข้อมูลในบัดนาวว่า "สาวเครือฟ้า" หรือ "แหวนทองเหลือง" ของไทยนั่นเล่า ก็พล็อตตระกูลเดียวกับ "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" นี้แล)

ความซับซ้อนของเรื่องที่ผูกโยงอย่างแนบเนียน ทำให้ “ฆาตกรรมนางาซากิ” เป็น Travel Mystery ที่ไม่ควรพลาดเด็ดขาด
และรับรองได้เลยว่า เมื่ออ่านจบ จะอยากไปเยือนนางาซากิให้ได้สักครั้ง หรือถ้าใครเคยไป ก็คงจะอยากไปอีกแน่ ๆ



3. ฆาตกรรม (ไม่?) ต่อเนื่อง 不連続殺人事件 Furenzoku Satsujin-Jiken by Ango Sakaguchi ราคาปก 285 บาท

แปลโดย ฉวีวงศ์ อัศวเสนา

คฤหาสน์อูตางาวะเคยเป็นที่หลบภัยสงคราม มาบัดนี้กลายเป็นที่ชุมนุมของเพื่อนนักเขียนกลุ่มใหญ่
แต่ละคนมีเบื้องหลัง ‘หาธรรมดาไม่’ เรียกได้ว่าซับซ้อนเลยละ ลูกเขาเมียใคร? ต่างก็ไขว้ (และไฝว้) กัน
ชนิดที่...แบบนี้ก็ได้หรอ? และแล้วก็มีคนตายเมื่อเกิดการชุมนุมกัน

คฤหาสน์แห่งนี้อยู่บนภูเขาห่างไกลจากเมืองหลวง ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเหตุสะเทือนขวัญขึ้นติด ๆ กันได้ แต่มันก็เกิดขึ้น
เหมือนมีใครวางแผนเรียกตัวมาฆ่ากันเลยทีเดียว ในบรรดาเพื่อนพ้องนักเขียนและผู้คนหลากหลายที่อยู่ตรงนั้น
ไม่ใครก็ใครอาจเป็นฆาตกร...แต่เอ๊ะ หรือว่ามีคนร้ายลักลอบเข้าไปก่อการกันแน่…ตำรวจแห่มาเต็มบ้าน
แต่ละคนก็แต่ละฉายา "สารวัตรเหยี่ยว" บ้างละ, "นักสืบจมูกมด" บ้างละ, "นักสืบคิดลึก" บ้างละ แต่ปรากฏว่าระบุตัวคนร้ายไม่ได้!

ท่านทามงเจ้าของคฤหาสน์เป็นคนมากหน้าหลายเมีย ชะรอยเกิดเหตุการณ์เลวร้ายถึงขั้นเลือดออกยางตก
(ราคา? เปล่านะ เราสายนิยาย มิได้หมายถึงการนคร) เอ๊ย...เลือดหกยางแตก เอ๊า อะ...เอาเป็นว่ามีคนตายละกัน
แล้วท่านผู้เฒ่าจะทำอย่างไรเล่า แต่ท่านเองก็ยังแก้ปัญหาของตัวเองไม่เสร็จเลยนั่น ก็นะ...คนอายุขนาดนั้น
ลำพังการบริหารสตรีก็แทบจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่นแล้วมั้ง แล้วจะเอาสติปัญญาที่ไหนไปคิดอ่านคลี่คลายคดีฆาตกรรมได้เล่า
ต่อให้เป็นคนคลั่งไคล้นิยายสืบสวนทั้งโลกก็เถอะนะ ฆาตกรรมนั้นหนา หาใช่รายเดียวไม่ เอ๊ะ...แล้วกี่รายล่ะ สองหรือ?

“ฆาตกรรม (ไม่?) ต่อเนื่อง” มีความสำคัญในวงการนิยายญี่ปุ่น ทั้งในแง่ของนักเขียน “ซากางูจิ อังโงะ”
และตัวเรื่อง ผู้แต่งคือนักประพันธ์คนสำคัญที่สร้างผลงานอมตะไว้หลากหลาย ภาพลักษณ์เด่นคือ “วรรณกรรมบริสุทธิ์” (หนัก)
อังโงะมีผลงานเรื่องยาวจำนวนไม่มาก และเรื่องที่นักอ่านจดจำได้มากที่สุดคือ “ฆาตกรรม (ไม่?) ต่อเนื่อง” นี่เอง

ผลงานนี้สำคัญอีก...เพราะการที่นักเขียน “วรรณกรรมบริสุทธิ์” จะมาเขียน “วรรณกรรมบันเทิง” ให้ดีให้เด่นนั้น ไม่เกิดขึ้นบ่อย
อย่างอาจารย์เอโดงาวะ รัมโปะ...นั่นคือแนวบันเทิงล้วน ๆ หรืออาจารย์ฮิงาชิโนะ เคโงะ หรืออาจารย์อิเกอิโด จุงเจ้าของซีรีส์
“ฮันซาวะ นาโอกิ” ก็เช่นกัน ล้วนเป็นนักเขียนแนว “เพียวร์” บันเทิงทั้งนั้น

ส่วน “ซากางูจิ อังโงะ” หลัก ๆ แล้วเป็นนักเขียน “วรรณกรรมบริสุทธิ์”...ภาษาญี่ปุ่นเรียกแบบนั้น
ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ คำที่ใกล้เคียงและเข้าใจง่ายที่สุดคือ  literary, ผลงานเด่น ก็เช่น
เรื่องสั้น “คนโง่” (白痴; Hakuchi; 1946), เรื่องสั้น “ใต้ป่าซากุระบานสะพรั่ง” (桜の森の満開の下; 1947),
บทความ “ทัศนะส่วนตนว่าด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่น” (日本文化私観; 1942)
แต่อังโงะก็เป็นคนที่ชอบเขียนเรื่องสืบสวนซึ่งเป็นแนวบันเทิงด้วย และเขียนได้ดี เช่น
เรื่องสืบสวนย้อนยุค “เมจิวิวัฒน์ : บันทึกอาชญนิยายของอังโงะ” (明治開化 安吾捕物帖; 1950-1952)
พิมพ์เล่มเล็ก ๆ พกพาแบบ 72 หน้าเป็นภาษาไทยออกมาแล้ว 1 เรื่อง ได้แก่ “ไข่มุกสีเลือด”

“ฆาตกรรม (ไม่?) ต่อเนื่อง” สำคัญอี๊ก...เพราะได้รับรางวัลใหญ่ของวงการ ในปี 1949 คือ
“รางวัลสมาคมนักประพันธ์วรรณกรรมสืบสวนแห่งญี่ปุ่น” และผ่านการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ (1977),
ละครโทรทัศน์ (1990) มาแล้ว จวบจนทุกวันนี้ (ปลายปี 2020) ผ่านมาหลายทศวรรษ
แต่ในญี่ปุ่นยังคงมีการนำผลงานนี้มาตีพิมพ์ซ้ำเป็นระยะ ครั้งล่าสุดคือปี 2018



=======================================================
ที่มา fb JClass

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น